สมูทตี้มีทั้งแบบเย็นและอุ่น และไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องดื่มอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยมีจุดเริ่มต้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสูตรดั้งเดิมนั้นใช้เพียงผลไม้ปั่นรวมกับน้ำผลไม้จนละเอียด มีลักษณะข้นหนืด เคี้ยวได้ โดยไม่มีส่วนผสมของน้ำแข็ง ต่อมาจึงเพิ่มเติมจำพวกผักสด ธัญพืช และเต้าหู้ เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารมากขึ้น รวมถึงใช้น้ำผักและชาแทนน้ำผลไม้ เมื่อเริ่มแพร่หลายจึงเริ่มใช้โยเกิร์ต วิปปิ้งครีม นมถั่วเหลือง นมสด และหลังปั่นเสร็จต้องดื่มทันที เพราะสารอาหารบางชนิดสลายได้ในอากาศ ดังนั้นจึงนิยมนำผัก ผลไม้ และส่วนผสมที่ต้องการไปแช่เย็นจนเย็นจัด ก่อนนำมาปั่น ก็จะได้เครื่องดื่มที่เย็นชื่นใจโดยไม่ต้องผสมน้ำแข็ง ปัจจุบันสมูทตี้จึงกลายเป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่ได้รับความนิยมสูง และแพร่หลายไปทั่วโลก
ในเมืองไทย สมูทตี้คือเครื่องดื่มแบบเดียวกับน้ำผลไม้ปั่น หรืออาจเรียกว่าเป็นพี่น้องกันก็ว่าได้ เดิมทีเครื่องดื่มไทยจะเป็นเพียงน้ำลอยดอกมะลิและน้ำต้มสมุนไพรต่างๆ จนเมื่อสมูทตี้เริ่มแพร่หลายเข้ามา น้ำผลไม้ปั่นจึงเกิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เหตุที่เรียกว่าน้ำปั่น ไม่ใช้สมูทตี้ เพราะความแตกต่างของเครื่องที่ใช้ปั่น หากเป็นสมูทตี้จะต้องใช้เครื่องปั่นสมูทตี้ที่มีกำลังสูงและปั่นได้เนียนละเอียด ในขณะที่น้ำปั่นที่นิยมในบ้านเราใช้เพียงเครื่องปั่นธรรมดา และความแตกต่างอีกอย่างคือ สภาพอากาศที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน จึงมีการเติมน้ำแข็งเข้าไปเพื่อเพิ่มความสดชื่น และนิยมใช้ผลไม้ปั่นรวมกับโยเกิร์ต หรือนมข้นจืด เพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมถูกปาก
การผสมผสานทั้งสมูทตี้ น้ำปั่น และน้ำแยกกาก เพื่อให้ได้รสชาติที่เข้ากับรสนิยมคนไทย จะผสมให้มีรสออกหวาน เพิ่มน้ำแข็ง น้ำผลไม้ นม และโยเกิร์ต เพื่อให้ดื่มง่ายขึ้น
วิธีการทำสมูทตี้ผักและผลไม้ให้ได้ประสิทธิภาพ
- เลือกผักและไม้ที่สดใหม่
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
- ถ้าผักและผลไม้มีก้านหรือเมล็ด ควรหั่นและแยกออกให้หมด
- การใส่ผักและผลไม้ลงในเครื่อง ควรทยอยใส่ทีละน้อย
- ในกรณีที่เป็นเครื่องคั้นน้ำ ควรหั่นผักและผลไม้ให้มีขนาดพอดีกับช่องใส่ของตัวเครื่อง อย่าหั่นเล็กหรือใหญ่เกินไป หากคั้นผลไม้หลายชนิด ให้ใส่ผลไม้เนื้อนุ่มลงไปก่อน แล้วตามด้วยผลไม้เนื้อแน่นหรือแข็งสลับกันไป เพื่อให้ผลไม้เนื้อแน่น ดันผลไม้เนื้อนุ่มที่อยู่ด้านล่าง
- ในกรณีที่คั้นน้ำจากผักประเภทใบต่างๆ ให้ม้วนใบผักเป็นก้อนใส่ลงไปก่อน แล้วตามด้วยผักหรือผลไม้ที่มีเนื้อแข็งกว่า
- ไม่ควรใช้เครื่องแยกกากคั้นผลไม้ที่สุกงอมเกินไป เพราะจะทำให้เนื้อที่เละๆ ไปติดหรืออุดตันในเครื่องได้ ผลไม้ที่สุกงอมมากๆ เหมาะกับเครื่องปั่นสำหรับทำเป็นสมูทตี้หรือน้ำผลไม้ปั่นมากกว่า
เมื่อใช้งานเครื่องคั้นแยกกากเสร็จ ควรล้างเครื่องให้สะอาดทันที แล้วผึ่งให้แห้ง หากล้างไม่สะอาดจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และควรเลือกเครื่องแยกกากที่ถอดล้างทำความสะอาดได้ง่าย โดยแช่ในน้ำอุ่นผสมน้ำยาล้างจานทิ้งไว้ สักพักก่อนนำไปล้าง จะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
ควรเลือกเครื่องทำน้ำผักและผลไม้อย่างไร
ปัจจุบันมีเครื่องปั่น เครื่องคั้นน้ำผักและผลไม้ให้เลือกมากมายหลายแบบ ซึ่งแน่นอนว่าราคายิ่งแพงก็ยิ่งดี เพราะมีรอบปั่นสูง ใบมีดหลายแฉก ทำให้ปั่นผักผลไม้ได้เนียน โดยไม่สูญเสียคุณค่าทางอาหารมากเกินไป ดังนั้นหากถามว่าแบบไหนดีที่สุด ให้ดูที่ความเหมาะสมตามการใช้งานและราคาที่ถูกใจ โดยลักษณะของเครื่องปั่นและเครื่องคั้นน้ำผลไม้ที่ดีมีดังนี้
เครื่องปั่น (Blender) ควรเลือกที่ปรับความเร็วได้หลายระดับ โถปั่นจะเป็นแก้วหรือพลาสติกก็ได้ตามต้องการ หากเลือกพลาสติกควรเลือกที่แข็งแรงและดีหน่อย เพื่อให้ทำความสะอาดง่าย ส่วนเครื่องปั่นที่มีใบมีดมากกว่าสองแฉกและมีกำลังไฟสูง จะมีข้อดี คือ สามารถปั่นจำพวกเบอร์รี่แช่แข็งได้โดยไม่ต้องรอให้ละลาย
เครื่องคั้นน้ำผลไม้ (Juicer) ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ คือ เครื่องคั้นชนิดปั่น (Centrifugal Juicer) ผักและผลไม้ที่ใส่เข้าไปจะถูกปั่นให้ละเอียดด้วยใบพัดโดยไม่ต้องใส่น้ำ ซึ่งแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นจะช่วยแยกน้ำลงในภาชนะที่รองรับอีกด้านหนึ่ง ส่วนกากจะยังค้างอยู่ด้านใน ซึ่งปริมาฯน้ำที่ได้จะน้อยกว่าเครื่องคั้นแบบที่สอง หรือที่เรียกว่า เครื่องแยกกาก (Masticating Juicer) เครื่องนี้จะทำงานโดยการบดผักและผลไม้จนละเอียดก่อนใช้แรงอัดเข้ากับตะแกรงกรองกาก จึงทำให้กากผักผลไม้แห้งสนิทและได้น้ำในปริมาณมาก ที่สำคัญ เอนไซม์ในผักและผลไม้ยังไม่ถูกทำลายอีกด้วย แต่จะมีราคาแพงกว่าแบบแรก
ข้อความระวังในการทำน้ำผักและผลไม้
- ควรเลือกผักและผลไม้ที่สดใหม่ อย่าเก็บทิ้งไว้นาน เนื่องจากจะทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง สำหรับผลไม้ควรเลือกที่แก่จัด เพราะจะได้รสชาติหวานอร่อย เช่น ฝรั่งสุกหรือแก่จัด รสชาติและกลิ่นจะหอมกว่าฝรั่งดิบ เป็นต้น
การเตรียมภาชนะในการทำน้ำผักและผลไม้ เช่น เครื่องปั่น ที่กรอง จะต้องเช็ดทำความสะอาดให้ดีก่อนใช้ทุกครั้ง - ผักและผลไม้บางชนิดควรเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ผักใบต่างๆ ให้เก็บในช่องแช่ผัก และไม่ควรหั่นก่อนแช่ เพราะจะทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง ยกเว้นผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น แตงโมหรือสับปะรดที่ไม่สะดวกแช่ทั้งลูก ให้หั่นเป็นชิ้นใหญ่ปริมาณตามต้องการ แล้วเก็บใส่กล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิด หรือใส่จานคลุมด้วยพลาสติกถนอมอาหาร แช่ให้เย็นจัด แต่ไม่ควรแช่ทิ้งไว้นานเป็นวันๆ เพราะจะทำให้คุณค่าทางอาหารและกลิ่นรสเสียไป
วิธีล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ปราศจากสารตกค้าง
- ผสมเบกกิ้งโซดา ½ ช้อนโต๊ะกับน้ำอุ่น 10 ลิตร คนให้เข้ากัน พักให้เย็นก่อนใส่ผักลงแช่ประมาณ 15 นาที จากนั้นนำผักไปล้างผ่านน้ำก๊อกหลายๆ ครั้ง เพื่อล้างเบกกิ้งโซดาที่ติดอยู่ออกให้หมด ซึ่งการล้างด้วยวิธีนี้จะลดสารพิษที่ตกค้างได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์
- ล้างผักและผลไม้โดยวิธีเปิดน้ำก๊อกไหลผ่าน ใช้มือถูให้ทั่วทั้งใบหรือผลนานประมาณ 2-3 นาที จะช่วยลดสารพิษได้ถึง 65 เปอร์เซ็นต์
- แช่ผักและผลไม้ในน้ำสะอาดไว้สักพัก จากนั้นใช้มือถูใบหรือผลจนทั่ว เทน้ำทิ้ง แล้วแช่น้ำสะอาดต่ออีก 20 นาที จะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์